top of page
ค้นหา

ความล้มเหลว ของระบบการศึกษาไทย

  • รูปภาพนักเขียน: krowzaa
    krowzaa
  • 17 มี.ค. 2558
  • ยาว 1 นาที

เมื่อเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ ทั้งเด็กและผู้ปกครองต่างรู้ว่านี่คือช่วงเวลาที่กำลังเดินเข้าไปสู่สนามการแข่งขัน ที่จะสร้างชีวิตที่ดีด้วยหลักประกันด้านโอกาสในการเรียนที่จะต่อยอดไปสู่การหางานในอนาคต

กระนั้นทุกคนตระหนักว่าการเรียนในห้องเรียนไม่ได้เป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นใจได้ว่า จะสอบติดเข้ามหาวิทยาลัยดังของรัฐ นี่ทำให้ทุกคนมุ่งมาที่การเรียนกวดวิชา ธุรกิจที่เติบโตขึ้นทุกปี

เหตุผลที่มักจะได้ยินจากนักเรียนนั่นก็คือ เรียนในห้องไม่รู้เรื่อง กลัวไม่ทันคนอื่น หรือถ้าทันเพื่อนอยู่แล้ว ก็เกิดกลัวถูกแซง เรียนได้ที่ 1 ของโรงเรียนเก่าอยู่แล้ว แต่อยากเก่งขึ้นไปอีก เป็นที่ 1 ของโรงเรียนอื่นเพราะเล็งเห็นว่ามาตรฐานแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน

เด็กจำนวนไม่น้อยบอกว่า เมื่อถึงช่วงปิดภาคเรียนพวกเขาต้องอยู่บ้านเฉยๆ เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ กวดวิชาเป็นเหตุผลที่ช่วยให้พวกเขามีข้ออ้างที่ไม่ต้องอยู่บ้านได้ ทำให้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ

อีกจำนวนหนึ่งซึ่งมาจากครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์มากพอก็มีความเชื่อว่าเรียนเยอะไว้ก่อน คือความได้เปรียบ ไม่สนเรื่องค่าเรียนที่แพงลิ่วนับหลายหมื่นบาทต่อภาคการศึกษาเดียว สูงกว่าค่าเทอมในชั้นเรียนปกติหลายเท่า แต่ก็ตัดสินใจเรียนเพราะเห็นว่าสถาบันบางแห่งมีการสอนสูตรเรียนลัดที่โรงเรียนไม่มีสอน

ที่ทำให้โรงเรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ ตามย่านดังพัฒนาจากตึกไม่กี่ชั้น กลายเป็นตึกสูงใหญ่ที่คลาคล่ำไปด้วยเด็กจำนวนมหาศาลเป็นภาพที่เห็นชินตา

ความต้องการหลายเหตุผลที่ยกมาสอดคล้องกับทิศทางการเจริญเติบโตของธุรกิจนี้ ตามที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาในปี 2558 ไว้ที่ 8,189 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 6.8% สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ

ขณะที่นักวิชาการบางรายอ้างงานวิจัยระบุว่า โรงเรียนกวดวิชาเติบโตจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วถึง 200% มีเงินหมุนเวียนในกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท/ปี โดยเฉลี่ยนักเรียนเรียนพิเศษคนละ 7-8 วิชา เพราะต้องการเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง

ประวิต เอราวรรณ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา ระบุว่า การกวดวิชาจะยังมีอยู่ ตราบที่การศึกษายังเป็นการศึกษาแบบแข่งขัน แพ้คัดออก อยากเป็นผู้ชนะก็ต้องเรียนหนัก ต้องกวดวิชา จนสร้างค่านิยมให้ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน เชื่อว่าต้องเข้าสู่การแข่งขันอย่างไม่มีทางเลือกอื่นๆ

ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา อธิบายว่า ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาการกวดวิชาที่ไม่ถูกจุด เช่น การปรับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยย้อนกลับไปปี 2549 ระบบเอนทรานซ์ ซึ่งเคยเป็นระบบการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า 40 ปี ถูกมองว่าเป็นระบบที่มีข้อเสียหลายด้าน อาทิ เปิดโอกาสให้นักเรียนสอบเพียงครั้งเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ จึงพบว่านักเรียนไม่เข้าชั้นเรียนปกติและหันไปกวดวิชาเพื่อแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไม่ลืมหูลืมตา

“นักเรียนส่วนใหญ่เริ่มกวดวิชาตั้งแต่เริ่มเรียนมัธยมปลาย ตั้งจุดหมายของชีวิตไว้ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำ ใครที่เคยผ่านระบบเอนทรานซ์มาย่อมจำได้ดีว่า เมื่อถึงฤดูสอบจะสร้างความตึงเครียดให้นักเรียนที่กำลังก้าวเข้าสู่สนามสอบ กระทรวงศึกษาฯจึงเปลี่ยนเป็นระบบแอดมิชชั่น เพื่อแก้ปัญหาและผ่อนคลายบรรยากาศการแข่งขันลง”

ทั้งนี้ สัดส่วนและองค์ประกอบหลักในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย จึงถูกเปลี่ยนเป็นคะแนนผลการเรียนสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) 20% คะแนนการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) 50% และคะแนนจากการสอบข้อสอบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือโอเน็ต 30%

ความตั้งใจของระบบนี้ถูกออกแบบจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเพื่อให้ได้ระบบที่ยุติธรรมสำหรับนักเรียน แต่นั่นก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การกวดวิชาก็ยังสูงขึ้น กระทั่งขยายเป็นการกวดวิชาตลอดทั้งปี ไม่ได้กระจุกตัวแค่ช่วงใกล้สอบอีกต่อไปแล้ว

“เราต้องพยายามลดสัดส่วนผู้ที่ต้องการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาลง เพราะการกวดวิชามีต้นสายปลายเหตุมาจากเรื่องนี้ ซึ่งการแก้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องของการปรับทัศนคติต่อระบบการเรียนการสอนทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ที่ต้องคิดใหม่ว่าไม่ได้ส่งลูกไปเรียนด้านวิชาการ แต่คือการส่งลูกไปเล่น เรียนรู้ตามช่วงวัย ไม่ให้พวกเขามีทัศนคติด้านลบต่อการเรียนตั้งแต่ยังเล็ก แต่ปัจจุบันเด็กถูกกดดันให้มุ่งไปในทางวิชาการตั้งแต่อนุบาล

...เมื่อเรียนไม่ทันคนอื่นก็กลายเป็นไม่พบคุณค่าในตัวเอง ในระดับชั้นที่สูงขึ้นก็เริ่มกลายเป็นเด็กหลังห้อง จนเลิกเรียน ออกกลางคัน นี่เป็นระบบที่ลดทางเลือกของเด็กลง และผลักให้เด็กเข้าสู่การแข่งขัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ ประเทศฟินแลนด์ต้องใช้เวลาประมาณ 15 ปี เกาหลีใต้ 12 ปี เราจะแก้เรื่องนี้ ต้องให้คนที่เข้าใจการศึกษาเข้ามาวางนโยบาย วางระบบไม่ใช่ให้การเมืองเข้ามาเปลี่ยนแปลง นโยบายเรื่องนี้ทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล” ประวิต กล่าว

สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโรงเรียนกวดวิชาแต่ก็ล้มเหลว เพราะทุกครั้งจะการแก้ปัญหานี้มักจะแยกส่วนระหว่างเอกชนซึ่งเป็นโรงเรียนกวดวิชา กับรัฐบาลซึ่งกุมนโยบายการศึกษามาโดยตลอด

“โรงเรียนกวดวิชามีส่วนดีในแง่ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ระบบการศึกษาไม่สามารถให้คำตอบหรือแก้ไขได้ ปัญหาข้อสอบยาก ออกไม่ตรงกับที่เรียน โรงเรียนกลุ่มนี้มีเทคนิคการสอนที่แก้ปัญหาได้ ทำไมโรงเรียนกวดวิชาจัดการปัญหาให้เด็กได้ แต่โรงเรียนในระบบการศึกษาทำไม่ได้ ครูที่สอนในโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ก็เป็นครูในระบบการศึกษามาก่อน นี่จึงเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวการจัดการศึกษาจนกลายเป็นช่องว่างในการทำมาหากินของโรงเรียนกลุ่มนี้”

สมพงษ์ ยกตัวอย่างว่า ในฝรั่งเศสและเยอรมนีไม่มีโรงเรียนกวดวิชา นโยบายการศึกษาของพวกเขาสอนให้เด็กคิดเป็น แต่ประเทศไทยแม้จะพยายามออกแบบข้อสอบให้คิดวิเคราะห์ แต่เมื่อนโยบายไม่สอดรับกับแนวคิดอย่างเป็นระบบ จึงเป็นช่องทางให้เด็กไปกวดวิชาเพื่อหาเทคนิคและคำตอบสำหรับตอบข้อสอบ ดังนั้น หากจะปฏิรูปการศึกษาและแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็ถึงเวลาที่ต้องดึงโรงเรียนกวดวิชาเข้ามามีส่วนร่วม

20140714-1405319169.8324-0.png
 
 
 

Kommentare


Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Clean
  • Twitter Clean
  • Instagram Clean
  • YouTube Clean
  • RSS Clean

© 2023 by DO IT YOURSELF. Proudly created with Wix.com

bottom of page